“ได้เวลาเปิดฝันนักออกแบบรุ่นใหม่” กับการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 15
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เล่าถึงการจัดโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับในปีนี้ ว่า “โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Intergeneration Jewelry” – jewelry for every generation เครื่องประดับที่ก้าวข้ามข้อจำกัดของเจนเนอเรชั่น การหลอมเป็นความคิดและประสบการณ์ของคนในแต่ละเจนเนอร์เรชั่น โดยการนำเสนอคุณค่า ความงดงาม ของวัสดุ/วัตถุดิบอันมีค่าที่เลือกใช้ ผสมผสานผ่านการนำเสนอแนวคิดในการออกแบบเครื่องประดับเพื่อทุกคน (Design for all)
ซึ่งการประกวดครั้งนี้ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะนักออกแบบรุ่นใหม่ จะต้องนำแนวคิด ประสบการณ์ ความชื่นชอบเครื่องประดับของผู้คนในทุกช่วงอายุ มาหล่อหลอมรวมและรังสรรค์ออกมาเป็นเครื่องประดับแบบใหม่ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดคนในแต่ละเจเนอเรชั่น โดยเปิดให้นักออกแบบได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่
ทั้งการนำวัสดุใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ไม้ พลาสติก เรซิ่น รวมทั้งนวัตกรรมอื่นๆ มาออกแบบตามความเหมาะสม และจะต้องสามารถนำมาพัฒนาเป็นจิวเวลรี่ที่จำหน่ายได้จริง ทั้งนี้ นักออกแบบจะต้องส่งแบบวาด (ไม่จำกัดเทคนิค หรือภาพเขียนจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์) ที่ตรงกับหัวข้อ จำนวนไม่น้อยกว่า 3 ชิ้นใน 1 ชุดหรือคอลเลคชั่น โดยในคอลเลชั่นนั้นจะต้องมีสร้อยคอเป็นหลัก และเครื่องประดับอื่นๆ เช่น ต่างหู แหวน กำไล เป็นต้น”
-การประกวดครั้งนี้มีรางวัลมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท หรือ 10,000 เหรียญสหรัฐ โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 4,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลมูลค่า 3,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินรางวัล 1,500 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลชมเชย 1 รางวัล เงินรางวัล 1,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมโล่เกียรติยศ โดยจะประกาศผลการตัดสินรอบแรกจากแบบวาดในวันที่ 15 มิถุนายน นี้
-สถาบันได้รับเกียรติจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วโลก อาทิ นางสิริพร ภาณุพงศ์ รองประธานกรรมการ สำนักกฎหมาย Royal Law ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นายสุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทบิวตี้เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด นายชาญชัย เลิศกุลทานนท์ รองประธานกรรมการ การผลิตกลุ่มและผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท PANDORA PRODUCTION, ดร.ธัชวิน สุรเศรษฐ กรรมการผู้จัดการ L.S.Jewelry Group (Lee Seng Jewelry), Prof. Paolo Torriti: Professor at the University of Siena, Italy และ Mr. Saeed Mortazavi Founder & CEO of Mortazavi Design Academy, Iran, Prof. Kwon Ju Han: Professor at College of Art and Design, Faculty of Applied Arts, Republic of Korea
-เบื้องต้น สถาบันจะตัดสินรอบคัดเลือกแบบวาด ในวันที่ 15 มิถุนายน 2564ได้คัดเลือกที่เข้ารอบสุดท้าย จนเหลือเพียง 4 แบบวาด มาผลิตเป็นเครื่องประดับจริงเพื่อนำไปตัดสินอีกครั้ง และประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศ พร้อมทั้งแสดงแฟชั่นโชว์ด้วยดารานางแบบชั้นนำ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน จากนั้นสถาบันจะนำผลงานการออกครั้งนี้ไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าต่างๆ อาทิ โชว์ในงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ และ งานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021 เพื่อเป็นการตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกของประเทศไทย” (Thailand’s Gems and Jewelry Hub of The World)
– ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 พฤษภาคม 2564 ผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ หรือส่งผลงานพร้อมใบสมัครทางไปรษณีย์ หรือส่งผลงานด้วยตัวเองที่ฝ่ายฝึกอบรม สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 140 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ชั้น 3 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
ส่วนสถานการณ์โควิด -19 ที่ระบาดไปทั่วโลกส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน ภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เอง ธุรกิจส่งออกก็ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีเช่นกัน ผอ.สุเมธ กล่าวต่อว่า
“…..การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 72.39 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 3,741.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (112,419.07 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 1,032.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (30,758.12 ล้านบาท) โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 10 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.59 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 816.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (24,317.46 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 27.43
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมนี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เบลเยียม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดในอันดับ 1, 2, 4, 5, 7, 8 และ 9 ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 23.13, ร้อยละ 39.54, ร้อยละ 10.07, ร้อยละ 39.52, ร้อยละ 15.66, ร้อยละ 46.87 และร้อยละ 14.99 ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดรอบใหม่และมีการใช้มาตรการล็อคดาวน์กันอีกครั้งในหลายประเทศทั่วโลก“
ส่วนแนวทางในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า ผอ.สุเมธ กล่าวว่า “ โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy with Confidence) เป็นโครงการที่กระทรวงพาณิชย์และสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการท่องเที่ยว โดยเป็นการสร้างมาตรฐานและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว ผ่านใบรับรองคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับของสถาบัน (GIT Gem and Jewelry Identification)
การเปิดให้บริการจุดรับ – ส่งอัญมณีและเครื่องประดับนอกสถานที่ (อาคารสิทธิกร) ถนนมเหสักข์ซึ่งตั้งอยู่ในย่านธุรกิจค้าพลอยสำคัญของประเทศ และมีกลุ่มเป้าหมายสัญจรผ่านหนาแน่น สถาบันได้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นจุดให้บริการสำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ตั้งแต่วันจันทร์ ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป เพื่อประชาสัมพันธ์ใบรับรองของ GIT ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย อันจะส่งผลให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยสามารถแข่งขันกับนานาประเทศและก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำของโลก”
และท้ายสุด ผอ.สุเมธ กล่าวถึงการจัดงานเทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021” ว่า ….สถาบันจึงได้รับมอบหมายจากกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำเนินโครงการ “พัฒนาจังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณี” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนด้านอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี ให้สามารถแข่งขันได้และมีความสามารถเพียงพอต่อการขยายตลาดสู่สากล โดยร่วมมือกับ จังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี หอการค้าจังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
เทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี” (International Chanthaburi Gems and Jewelry Festival 2021” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 ธันวาคม 2564 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี, เคพี จิวเวลลี่เซ็นเตอร์, OTOP Lifestyle บริเวณตลาดพลอย ถนนศรีจันทร์
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้ออัญมณี และยังเป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรี ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค เปิดโอกาสให้ผู้ชมงานได้เลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีในราคาผู้ผลิต คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ทั้งจากการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งจากการท่องเที่ยวส่งท้ายปลายปี รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิด – 19 คลี่คลาย ตามนโยบายของรัฐบาล
ภายในงานจะมีคูหาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการชาวไทย และต่างชาติกว่า 300 คูหา โดยผู้ชมงานจะได้พบกับผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับและสินค้าเกี่ยวข้องมากมาย ได้แก่ พลอยดิบ พลอยเจียระไน วัตถุดิบประกอบอัญมณี เครื่องประดับอัญมณี เครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ ซึ่งครอบคลุมทุกส่วนในวงการอุตสาหกรรมอัญมณี เรียกได้ว่ามางานนี้จบครบในงานเดียว
นอกจากนี้ทางสถาบันยังจัดห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับเคลื่อนที่ เพื่อให้บริการผู้ประกอบการ ผู้ซื้อและผู้บริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับด้วยความมั่นใจ ผ่านใบรับรองจาก GIT โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะ
ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2021” ได้ที่