ข้อมูล

5 กูรู “ทองคำ” ปรับมุมมองแนวโน้ม “ราคาทอง” ปี64 “ขาลง”

“แม่ทองสุก”ชี้ทิศทางราคาทองปี 64 ครึ่งปีหลังกลับมาเป็น “ขาลง อย่างสมบูรณ์”หลังเฟดชะลอคิวอีกดดันราคาทองที่ 1,750 อาจลดลงมาที่ 1,600-1,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 26,500 อาจลดลงมาที่ 25,000 บาท ในช่วงปลายปี เช่นเดียวกับ“สมาคมค้าทองคำ” เป็นขาลงมีโอกาสแตะ 24,450 บาท หากภาพรวมฟื้นตัวไม่เห็น30,000บาท

“ราคาทอง” ในช่วงครึ่งปีแรกของ2564 เรียกได้ว่าเป็น “รถไฟเหาะ” ที่สร้างความหวาดเสียวได้น่าดูชม เนื่องจากราคาทองคำมีการทำจุดสูงสุดแตะ 1,958 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และจุดต่ำสุดแตะ1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เท่ากับว่ากรอบการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วงครึ่งปีแรกของ 2564 อยู่ที่ 282 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นการผันผวนมากๆ แล้ว ขณะที่ 5 กูรู "ทองคำ" ปรับมุมมองแนวโน้ม “ราคาทอง”ปี64 โดยในช่วงที่เหลือปีนี้จนถึงสิ้นปี2564 คาดการณ์ว่าเป็น“ขาลง” แล้ว จากช่วงต้นปีมองเป็นขาขึ้นแตะ 30,000 บาทได้ หลังการแพร่ระบาดโควิดอีกระลอกในต่างประเทศและไทย หนุนราคาทองพุ่ง แต่เนื่องจากผลการประชุมเฟดในคืนวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมานี้ แม้ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกใดๆให้กับตลาดนัก ในทางกลับกันผลตอบรับของการลงทุนในทองคำกลับปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงเหนือกว่าที่คาดไว้อย่างมาก “นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ” ประธานกรรมการฝ่ายบริหารกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ หรือ “แม่ทองสุก”กล่าวว่า “ทองคำ” กำลังปรับตัวลดลงอย่างมากจนเริ่มเข้าสู่ทิศทางขาลง สิ่งที่น่าจะยืนยันกับภาพด้านเทคนิค คือการที่ราคาทองคำดิ่งตัวลงจากระดับ 1,890 – 1,900ดออลาร์ต่อออนซ์ ลงมาสู่ระดับ 1,810 เหรียญในระยะเวลาเพียง 7 วันเท่านั้นจึงทำให้ภาพทางด้านเทคนิคของราคาทองคำกลับมาเป็น “ขาลงอย่างสมบูรณ์” แรงกดดันดังกล่าวก็มาสู่ “การลงทุนทองคำ” จากราคาที่เริ่มหลุดแนวรับระยะสั้นครั้งแรกบริเวณ 1,880 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่แนวรับระยะกลางครั้งที่ 2 จากระดับ 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวรับระยะยาวครั้งที่ 3 คือบริเวณ1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์นั่นเอง

เมื่อพิจารณาจะเห็นถึง "ปัจจัยพื้นฐาน" ที่เปลี่ยนไปและกระทบต่อราคาอย่างรุนแรง "นพ.กฤชรัตน์" กล่าวว่า “ปัจจัยพื้นฐาน” ที่ แม่ทองสุกพูดถึงอยู่เสมอ คือ สภาพเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายจากภาวะโควิด-19 ที่กระทบอย่างมากในปี 2563-2564 ถูกคาดว่าจะกลับมาดีขึ้นในปี 2565 จากการที่สหรัฐฯมีการอัดฉีดเม็ดเงินหรือคิวอีเข้าไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ค่อยๆปรับตัวลดลงจาก 7% เหลือ 5% และ 4% หรือมีคนว่างงานลดลง ขณะที่ความมั่นใจทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ท่ามกลางสภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มขึ้นตามมา และเดิมทีทุกคนก็คาดหวังว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียงชั่วคราวหรือระยะสั้นเท่านั้น โดยเฟดตั้งเป้าหมายว่าจะไม่เกินระยะยาว ในขณะที่เงินเฟ้อระยะสั้นช่วงไตรมาสที่ 2ปี2564 ปรับขึ้นมามากถึง 5% ขณะที่กระแสการขึ้นดอกเบี้ยเริ่มกลับมามากขึ้นเรื่อยๆรวมทั้งกระแสการที่สหรัฐฯมีการอัดฉีด คิวอีเข้ามาตั้งแต่ยุคนายทรัมป์เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์ และยุคของนายไบเดนอีกกว่า 1.9 ล้านล้านดออลาร์ นับเป็นประเด็นที่ค่อนข้างถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกการเงินและเศรษฐกิจอย่างมากว่า “สหรัฐใช้ความเป็นพี่ใหญ่” ในการใช้เงินอัดฉีดอย่างมาก และเอาเปรียบประเทศอื่นอย่างมาก แม้ว่าการอัดฉีดอย่างมหาศาลของเม็ดเงินจะทำให้จีดีพีสหรัฐ มียอดหนี้สินทะลุ 100%ไปแล้ว ส่งผลให้ “ดอลลาร์” อ่อนค่าลงระยะสั้นๆ แต่ก็มีการตอบรับกับสภาวะข้อมูลเศรษฐกิจที่ปรับขึ้นจากภาวะ “ต่ำสุด”( Bottom )จึงทำให้ภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ แม้ว่าตลาดจะไม่ได้คำนึงถึงการใช้เม็ดเงินดังกล่าวจะคุ้มกับการฟื้นตัวหรือไม่ ขณะที่ประชุมเฟดระหว่าง 15-16 มิ.ย. ที่ออกมา ก็เป็นไปตามคาด คือการคงดอกเบี้ยไว้ที่0% และสภาวะคิวอีที่จะยังคงการเข้าซื้อต่อไปทุกเดือน เดือนละ 1.2 แสนล้าน จะเห็นได้ว่า การลดเม็ดเงินของคิวอี นั้นกระทบต่อตลาดการเงินและตลาดทองคำอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบการลดคิวอี ในปี 2553 และเฟดเริ่มลดคิวอีดูจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำอย่างรุนแรงและทำให้ราคาทองคำจาก1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ร่วงหลุดลงมากว่า 1 ปีครึ่ง โดยหลุดจากระดับ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ที่เป็นสูงสุดในช่วงนั้นลงมาจนถึงระดับ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์โดยประมาณด้วยซ้ำ การเปลี่ยนแปลงที่มีขึ้นที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ 14 – 17 มิ.ย. 2564บ่งชี้อย่างมีนัยยะสำคัญต่อตลาดทองคำ และเมื่อได้กลับมาวิเคราะห์ศึกษากับตลาดทางด้านเทคนิคก็จะสามารถยืนยันผลได้ว่า ตลาดทองคำที่เป็นขาขึ้นในช่วง 5 เดือนของต้นปี 2564 น่าจะจบลงไปแล้ว และปีนี้ไม่น่าจะเห็นราคาทองคำไทยขึ้นไปที่ระดับ 30,000 บาทแล้ว ในขณะที่มีโอกาสเห็นทองคำกลับลงไปจาก 27,000 บาทลงมาที่ 25,000 บาทได้ ดังนั้น "นพ.กฤชรัตน์" จึงสรุปได้ว่า ราคาทองคำกลับเข้าสู่แนวโน้มขาลงแล้ว และอยากให้นักลงทุนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนในทองคำตามกระแสที่เปลี่ยนไป ซึ่งจะเห็นถึงการขึ้นและลงของราคาทองคำปรับเปลี่ยนขึ้นและลงได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นนั่นเอง

“ธนะเกียรติ ปฐมะพงษ์” ผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน คลาสสิก ออสสิริสจำกัด กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 มอง 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มราคาทอง ได้แก่ ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ,นโยบายการเงินของสหรัฐและสถานการณ์ โควิด-19 ยังคาดการณ์ได้ยาก ประเมินกรอบของทองในปีครึ่งหลัง 2564 ดังนี้ Gold Spot ที่ 2,000- 1,730 ดอลลาร์ต่อออนซ์ราคาทองคำไทย 96.5% ที่ 29,600-25,600 บาท โดยปัจจัยข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ตอนนี้จีนยังไม่สามารถซื้อสินค้าตามข้อตกลงที่ทำสัญญาไว้กับสหรัฐทำให้แนวโน้มการเจรจาการค้าที่กำลังทบทวนกันอยู่ระหว่างสหรัฐฯกับจีน อาจเจอทางตัน และข้อตกลงการค้าดังกล่าว มีความเสี่ยงสูงที่จะเริ่มเห็นการกลับมาขึ้นภาษีของสหรัฐต่อจีน ซึ่งเป็นโอกาสทำให้ราคาทองคำปรับบวก เช่นเดียวกับหากเกิดการระบาดขึ้นใหม่ของโควิด-19 ยังเป็นสถานการณ์คาดเดาได้ยาก มีโอกาสที่ทำให้ราคาทองคำปรับขึ้นได้เช่นกัน ส่วนหลังจากจบการประชุมเฟดในวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้เฟดส่งสัญญาณมองว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566 จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวอย่างมาก มีโอกาสเห็นเงินไหลเข้าตลาดสหรัฐฯซึ่งส่งให้ ดอลลาร์แข็งค่า และกดดันราคาทองคำ "จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี" นายกสมาคมค้าทองคำนายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาทองในปี2564 คาดว่ายังเป็นขาลงจากปีก่อน และในไตรมาส 3 นี้ราคาทองยังน่าจะปรับตัวลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คาดว่าจะคลี่คลายและเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐเริ่มฟื้นจากการฉีดวัคซีนในหลายเทศ รวมถึงประเทศไทย น่าจะเริ่มมีการกระจายวัคซีนได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเปิดประเทศ 120 วันเป็นปัจจัยบวกในภาพรวม แต่เป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทอง ดังนั้นในปีนี้คงไม่ได้เห็นราคาทองปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 30,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์อย่างที่เคยเกิดเมื่อปีก่อน(7 ส.ค.2563) โดยมีโอกาสที่จะลงมาเท่าระดับ 24,450 ในเดือนมี.ค 2564 ได้เช่นกัน "หลังจากนี้ราคาทองลงลึกหรือรีบาวน์ขึ้นมากหลังจากนี้มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับสถานการณ์ปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะเรื่องการฉีดวัคซีนจะแก้ปัญหาคุมการระบาดโควิดได้ดีแค่ไหน ซึ่งก่อนหน้านี้ในปีนี้เราคาดว่าราคาทองจะเป็นขาลงแล้วแต่ในช่วงต้นปีมีการแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 ก็ทำให้ราคาทองขึ้นมาได้ แต่หากสถานการณ์ภาพรวมค่อยๆดีขึ้น ราคาทองคงจะปรับลง ดังนั้นระยะสั้นนักลงทุนยังต้องระวังในการเข้าลงทุนระยะสั้น ส่วนการลงทุนระยะยาวยังต้องรอประเมินสถานการณ์ชัดเจนก่อน" นอกจากนี้ "วายแอลจี" เตรียมปรับมุมมองราคาทองคำในช่วงกลางปีนี้ จากปัจจัยผลการประชุมเฟดครั้งล่าสุด อาจจะขึ้นดอกเบี้ยและเตรียมลดคิวอีเร็วกว่าที่ตลาดคาด ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ได้ปรับลดมุมมองราคาทอง ทั้งปี2564 ไว้ที่ 1,960-1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือราว 29,000-24,800 บาท จากช่วงต้นปี2564ให้ไว้ที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือราว 29,591 บาท ลุ้นแตะ30,000บาท เช่นเดียวกับ "โกลเบล็ก" ล่าสุดประเมินแนวโน้มราคาทองครึ่งปีหลัง2564 คาดว่าจะแกว่งตัว Sideway ถึง Sideway Down ที่ระดับ 1,850-1,700 บาทต่อออนซ์ หรือ 27,630-25,180 บาท จับตาความเคลื่อนไหวของนโนบายการเงินสหรัฐและสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19ทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *