ออกแบบ

Beyond Jewelry เครื่องประดับวันนี้ต้องดีต่อสุขภาพ

โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เราทุกคนต้องอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้

อุตสาหกรรมเครื่องประดับ เป็นหนึ่งในแวดวงที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากกิจกรรมทางสังคมที่ลดลง ทำให้การใช้เครื่องประดับมีบทบาทน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนั้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้ ทำให้ผู้บริโภคต้องทบทวนการจับจ่าย นอกจากสินค้าจำเป็นพื้นฐานในชีวิตแล้ว เรื่องของสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนถามหา แต่จะทำอย่างไร ให้สุชภาพกับเครื่องประดับ เดินไปในทิศทางเดียวกันได้

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดตัวเครื่องประดับ ที่ตอบโจทย์ทั้งทางด้านความสวยงามและด้านสุขภาพ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายในปีงบประมาณ 2564 ให้สถาบัน เร่งผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ในทุกมิติ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งกระตุ้นความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ในฐานะการเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก ซึ่งโครงการเครื่องประดับเพื่อสุขภาพ ถือได้ว่าเป็น หนึ่งในโครงการที่ได้มอบหมายให้กับสถาบันบูรณาการร่วมกับสถาบันการศึกษา อย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อนำงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านสุขภาพ มาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมเครื่องประดับ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นการต่อยอดงานวิจัยให้สามารถนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอีกด้วย

GIT ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อนำงานนวัตกรรมที่น่าสนใจมาร่วมพัฒนา และออกแบบร่วมกับ นักออกแบบเครื่องประดับและผู้ประกอบการ เป็นเครื่องประดับต้นแบบ โดยครั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีที่ใช้ในเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 เพื่อนำมาใช้เป็นองค์ประกอบของเครื่องประดับ โดยมีหลักการทำงานคล้ายเครื่องฟอก-อากาศ เพื่อดักจับอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 ทำให้อนุภาคฝุ่นเป็นกลางหล่นลงสู่พื้น คงเหลือแต่อากาศที่สะอาดปราศจากฝุ่นควันกลับสู่ธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้งานได้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยผลักดันจุดแข็งด้านงานวิจัยมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การออกแบบ สร้างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแบรนด์ เป็นการสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับให้มีคุณสมบัติที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับทั่วไป

อีกทั้งยังได้มีการออกแบบเครื่องประดับเพื่อสุขภาพเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บ และ ช่วยในการเคลื่อนไหว อาทิ แหวนกันนิ้วล็อค และ เครื่องพยุงกล้ามเนื้อเพื่อช่วยในการเดิน เป็นต้น

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยเทคโนธานี มหาวิทยาลัยมีความยินดีที่ให้การสนับสนุนในด้านการประสานงานการปรับแปลงวงจรของเครื่องฟอกอากาศ โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การผลิต ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคเอกชน รวมทั้งผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการนำผลงานวิจัยมาถ่ายทอดให้คำปรึกษาเชิงลึก พร้อมผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมและประเทศ ซึ่งการได้ร่วมมือกับ GIT ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ต่อยอดงานวิจัยให้เกิดผลผลิตที่แท้จริง”

นอกจากนี้ นายสุรศักดิ์ มณีเสถียรรัตนา หนึ่งในนักออกแบบ และ นักวิจัยอิสระ ที่ได้ร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบในโครงการ Beyond Jewelry ได้เสริมถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบว่า “แรงบันดาลใจในการออกแบบครั้งนี้ ถอดแบบจากการทำงานของเครื่องฟอกอากาศ ที่ใช้หลักการของประจุบวก และ ประจุลบ (ION) ของน้ำ ซึ่งอยู่รอบตัวเรา มาเป็นแรงบันดาลในการออกแบบ สร้องคอ ต่างหู และสร้อยข้อมือ โดยใช้เทคนิคการออกแบบให้มีความน่าสนใจ โดย คอลเลคชั่น Water Harmony I ใช้เทคนิคความสมมาตรทั้งซ้าย และ ขวา ซึ่งส่งให้เครื่องกรองอากาศมีความโดดเด่น และเปล่งประกายดังอัญมณี ส่วน Water Harmony II ใช้แนวคิดของการออกแบบที่ไม่มีความสมมาตร มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และใช้เทคนิคที่ชื่อ Slice & Lock เพื่อให้ผู้ใส่สนุกกับการสวมใส่เครื่องประดับมากขึ้น

ในงานแถลงข่าวการเปิดตัวเครื่องประดับเพื่อสุขภาพในโครงการ Beyond Jewelry ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “เมื่อเครื่องประดับ เป็นมากกว่าแค่เครื่องประดับ” จากผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนโครงการจนได้ต้นแบบที่น่าสนใจนี้

“ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องประดับโดยตรง อีกทั้งยังมีวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาระยะยาว จึงต้องมองหาแนวทางในการปรับตัวเพื่อรองรับรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนแปลง นอกจากความสวยงามของเครื่องประดับแล้ว ยังมีรูปแบบที่น่าสนใจอื่นๆ อาทิ เครื่องประดับเพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นไอเดียตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพว่า นอกจากความสวยงามแล้วจะนำเครื่องประดับมาใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

จากนี้ไปต้นแบบของ Beyond Jewelry จะเป็นเหมือนต้นแบบความร่วมมือ หรือไอเดียในการปรับตัวในการทำธุรกิจให้เท่าทันกับยุคสมัยท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการจุดประกายแนวคิดให้กับคนในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ ให้สามารถทางเลือกในการพลิกฟื้นสถานการณ์ได้” นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ

“นอกจากวิศวกรจะมีหน้าที่รับโจทย์มาเพื่อแก้ไข ดีไซเนอร์เองก็รับหน้าที่นี่เช่นกัน เพราะการออกแบบจากแรงบันดาลใจใดๆ ก็ต้องเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้บริโภค ในโครงการนี้ ทาง GIT ได้ศึกษาวิจัยมาแล้วว่า มีโควิด-19 มีฝุ่น PM 2.5 แล้วผู้บริโภคต้องการอะไร แน่นอนว่าไม่ต้องการให้ฝุ่นหรืออากาศที่ไม่ดีเข้าสู่ร่างกาย นอกจากทางวิศวกรจะออกแบบนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศขนาดเล็กแล้ว ทางดีไซเนอร์ก็ต้องหารูปแบบที่น่าสนใจ ให้กลายเป็น Smart Jewelry ที่น่าสวมใส่ ไม่ต้องแอบซ่อนไว้ อย่าง ผลงาน Wing of Life” นายสุรศักดิ์ มณีเสถียรรัตนา นักออกแบบ/นักวิจัยอิสระ

“ผมไม่ได้ออกแบบจิวเวอรี่ที่ดีที่สุด หรือเพื่อให้เป็นสุดยอดผลงาน แต่การทำงานในครั้งนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า มีหนทางใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ ของธุรกิจจิวเวอรี่ โดย Beyond Jewelry ไม่ใช่หนทางที่ดีที่สุด แต่ทุกคนต้องหาความแตกต่างในแบบของตัวเอง ดึงจุดแข็งของตัวเองออกมาใช้เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจเดินทางต่อไปได้” นายพ้อง พรสมิทธิกุล นักออกแบบ/นักวิจัยอิสระ

รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “คนสายวิศวกรรม จะคิดถึงเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งาน ไม่เคยคิดเรื่องสวยงามมาก่อน เมื่อวันนี้ได้รับโจทย์ให้คิดถึงทั้งฟังก์ชั่นและความสวยงาม ผมจึงรู้สึกตื่นเต้น และนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก เพราะจะทำเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ขนาดตึก 10 ชั้นก็ทำได้ แต่ในโครงการนี้เราต้องทำเครื่องฟอกให้มีขนาดเล็กที่สุดถึงจะดี ต้องมีเรื่องของการทำงานผ่านไวเลส ความคำนึงของพื้นที่ครอบคลุม ซึ่งทุกอย่างใช้เวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น นับเป็น Beyond ของผมในทุกๆ อย่าง”

ติดตามผลงานที่น่าสนใจ รวมทั้งผู้ประกอบการรายใดสนใจที่จะนำไอเดียที่เกิดขึ้นนี้ไปต่อยอด สามารถปรึกษาได้ที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 634 4999 ต่อ 635 – 642

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *