คุณบุญกิต จิตรงามปลั่ง | Success Story 20 ปี
เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย นอกจาก "พลอย" ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว "เครื่องประดับเงิน" ก็เป็นสินค้าอีกกลุ่มที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าทั่วโลก ซึ่ง "คุณบุญกิต จิตรงามปลั่ง" นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบนสัน จิวเวลรี่ จำกัด ได้เล่าถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีการเติบโตดีตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มที่สดใสในอนาคต เนื่องจากเป็นเครื่องประดับที่มีราคาที่คนธรรมดาเอื้อมถึง คุณบุญกิตเล่าว่า อุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับเงินของไทยเริ่มมีบทบาทมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 หรือ พ.ศ.2524 ที่ไทยเริ่มส่งออกเครื่องประดับเงินไปตลาดต่างประเทศ ชนิดที่เรียกว่าผลิตไม่พอ มีเท่าไหร่ก็ขายได้หมด ซึ่งผู้ส่งออกยุคนั้นจะเป็นร้านค้าในย่านสีลม สุรวงศ์ และมเหสักข์ ส่วนผู้ผลิตหลักๆ จะอยู่ที่ย่านฝั่งธนบุรี บ้านหม้อ รวมถึงในต่างจังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และเชียงใหม่ โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยในสมัยนั้นก็คือ ยุโรป
"ชาวอังกฤษ เยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ นิยมสวมใส่เครื่องประดับเงิน เพราะเครื่องประดับเงินมีความคงทน อีกทั้งสภาพอากาศในต่างประเทศมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกว่าบ้านเรา จึงทำให้สีของเครื่องประดับเงินไม่คล้ำง่าย คนยุโรปนิยมซื้อของที่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิต ชอบสินค้าแฮนด์เมด แข็งแรง ส่วนคนอเมริกันตอนนั้นจะนิยมทองคำ เพราะมองว่าเครื่องเงินเป็นเครื่องประดับแฟชั่น และตอนนั้นราคาทองคำยังไม่แพง คิดเป็นเงินไทยแค่ 4 พันกว่าบาทเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม หลังจากราคาทองคำขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในสหรัฐอเมริกานิยมเครื่องเงิน ทำให้ "สหรัฐอเมริกา" กลายเป็นตลาดส่งออกเครื่องเงินที่มีความต้องการซื้อสูง ขณะที่ประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับเงินในสมัยนั้นมีน้อยมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ "ประเทศไทย" ที่มีจุดเด่นคือ สินค้าคุณภาพดี ราคาย่อมเยา
"ผู้ผลิตที่บุกตลาดอเมริการุ่นแรกที่ประสบความสำเร็จมากๆ คือ เม็กซิโก ที่มีชายแดนติดกับสหรัฐฯ และเป็นผู้ จุดกระแสการส่งออกเครื่องเงินไปสหรัฐฯ สมัยนั้นเม็กซิโกทำเครื่องประดับที่คงความเป็นเอกลักษณ์สูงและมีเทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า หากช่างฝีมือไทยสามารถผลิตต่างหูเงินคู่หนึ่งหนัก 10 กรัม ช่างเม็กซิโกจะทำต่างหูแบบเดียวกันแต่หนัก 20-25 กรัม เพราะไม่สามารถทำให้บางเท่ากับของไทยได้"
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เริ่มส่งออกสินค้าเครื่องประดับเงินไปยังตลาดสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970 แต่ได้ขยายตัวมากในช่วงปี ค.ศ. 1980 ซึ่งถือเป็นชาติเดียวในเอเชียที่ผลิตเครื่องเงินเพื่อส่งออก ขณะที่ฮ่องกงแม้จะสามารถผลิตเครื่องเงินได้ แต่เนื่องจากค่าแรงสูง จึงเน้นการผลิตเครื่องประดับทองที่ประดับเพชรและพลอยมากกว่า ส่วนจีนและอินเดียในขณะนั้นยังไม่มีศักยภาพผลิตเครื่องประดับเงินเลย
"ตลาดสหรัฐฯ ใหญ่มากๆ ชนิดที่คนทั่วไปอาจคิดไม่ถึงว่าจะใหญ่ขนาดนั้น" คุณบุญกิตพูดย้ำถึงโอกาสยิ่งใหญ่มหาศาลของตลาดสหรัฐฯ ด้วยแววตาเป็นประกาย พร้อมกับเล่าถึงประสบการณ์การทำธุรกิจของตัวเองเมื่อประมาณ 30 กว่าปีก่อนว่า "สมัยผมเริ่มทำธุรกิจตัวเองเมื่อเดือนมกราคม 2526 ผมรับออเดอร์แรกจากสหรัฐฯ ประมาณ 50 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น บริษัทผมต้องใช้เวลาผลิตสินค้าเครื่องเงินประมาณ 6 เดือนสำหรับสินค้าล็อตแรก ยุคนั้นไทยมีโรงงานผลิตเครื่องเงินขนาดใหญ่ไม่เกิน 5 ราย หลังจากนั้นในช่วงปีที่ 3-4 ของการทำธุรกิจ มีการผลิตเครื่องประดับเงินได้มากขึ้นเป็นอย่างมาก ผลิตเท่าไหร่ ลูกค้าก็ซื้อหมด ไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ นั่นคือความต้องการของตลาดยุค’80 เป็นความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจเครื่องประดับเงินของเมืองไทย"
จาก OEM สู่ ODM และ OBM ในยุค’80 ที่เครื่องประดับเงินผงาดขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับไทย ผู้ประกอบการไทยรับบทบาทเป็นผู้ผลิตตามคำสั่งของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถคิดสร้างสรรค์ออกแบบเครื่องประดับได้เอง ต่างจากปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบการไทยได้แสดงศักยภาพด้านการออกแบบจนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั่วโลก
"สมัยแรกๆ ที่ไทยส่งออกเครื่องประดับเงินไปต่างประเทศ เราจะผลิตเครื่องเงินตามออร์เดอร์ มีการประดับพลอยบ้างเป็นส่วนน้อย โดยลูกค้าจะถือแบบมาจากต่างประเทศแล้วมาสั่งไทยผลิต ซึ่งเราสามารถผลิตเครื่องประดับแบบเดียวกัน แต่มีน้ำหนักน้อยกว่า ทำให้ราคาถูกกว่ามาก ลูกค้าจึงสั่งซื้อเครื่องประดับเงินจากไทยจำนวนมหาศาล เดือนหนึ่งเป็นล้านชิ้น ช่วงพีกสุดของเครื่องประดับเงินคือช่วงปี ค.ศ.1985-1995 (พ.ศ.2528-2538) มีคนเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น ตอนนั้นไทยมีภาษีนำเข้าวัตถุดิบ 35% ต้องเสีย VAT อีก 7% แต่ยังมียอดขายมโหฬาร เพราะไม่มีคู่แข่ง แต่ตอนนี้ภาษีเหลือ 0% ยังขายแทบไม่ได้กำไร เพราะตอนนี้มีคู่แข่งมาก ทั้งตุรกี จีน อินเดีย ที่ผลิตเครื่องเงินได้ ส่วนเม็กซิโกก็ผลิตได้เหมือนไทยทุกอย่าง แถมยังได้เปรียบเรื่องสิทธิประโยชน์จาก FTA หรือข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ด้วย"
ในภาวะที่การแข่งขันในตลาดสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการเครื่องเงินไทยก็ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองจากเดิมที่ผลิตเครื่องประดับเงินตามแบบที่ลูกค้ากำหนด (OEM : Original Equipment Manufacturer) มาเป็นการผลิตสินค้าตามดีไซน์ที่ออกแบบเอง และนำสินค้าไปเสนอลูกค้า (ODM : Original Design Manufacturer) และบางรายก็สามารถผลิตสินค้า สร้างแบรนด์ของตัวเอง (OBM : Original Brand manufacturer) เพื่อจำหน่ายได้
"ตอนนี้ลูกค้าเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยคิดและออกแบบดีไซน์สินค้าให้ด้วย เขายอมรับฝีมือช่างไทยและดีไซเนอร์ไทย ซึ่งคนไทยก็ได้สั่งสมประสบการณ์ด้านนี้มายาวนาน" คุณบุญกิตอธิบาย
ขณะเดียวกันคุณบุญกิตได้ชี้ให้เห็นจุดแข็งที่ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินของไทยเติบโตได้ดีตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ยังสามารถยืนอยู่ในใจของลูกค้าในตลาดหลักที่บางช่วงต้องเผชิญกับวิกฤตภายในประเทศของตัวเอง เช่น วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็ยังต่อสู้กับคู่แข่งในตลาดโลกได้ดีเยี่ยม เนื่องจากสามารถหากลุ่มลูกค้าที่เหมาะสม พร้อมนำเสนอสินค้าคุณภาพที่ตรงใจลูกค้า
สำหรับตลาดเครื่องเงินโลกในปัจจุบัน คุณบุญกิตกล่าวว่า ไทยเน้นลูกค้าตลาดกลางกึ่งบน ซึ่งเป็นตลาดที่จีนยังไม่สนใจ โดยตอนนี้จีนสนใจเครื่องประดับทองมากกว่า ส่วนตลาดเครื่องเงินนั้น จีนจะเน้นตลาดล่าง ขณะที่อินเดียจะจับกลุ่มลูกค้าตลาดกลางกึ่งล่าง และอิตาลีจะเน้นลูกค้าตลาดบนเท่านั้น
"แม้ว่าเราจะถูกท้าทายจากคู่แข่งทั้งจีน อินเดีย ตุรกี หรือแม้กระทั่งอิตาลี แต่สินค้าของไทยมีตำแหน่งจุดยืนที่ชัดเจน ตลาดเครื่องเงินโลกมีช่องว่าง (Gap) ที่ไทยเข้าไปเติมเต็มได้อย่างลงตัว ซึ่งประเทศอื่นยังทำไม่ได้" คุณบุญกิตกล่าว
"ลูกค้าหลักของไทยคือ ตลาดกลางกึ่งบน เราผลิตเครื่องเงินที่มีคุณภาพสูงใกล้เคียงกับสินค้าตลาดบน มีความประณีต แม้ว่าการผลิตเครื่องประดับจะนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าการทำต้องอาศัย Feeling Touch หรือความรู้สึกเข้าไปช่วยด้วย การทำงานของเครื่องจักร หุ่นยนต์ และฝีมือคนอาจได้งานออกมาเหมือนกัน แต่เห็นแล้วให้ความรู้สึก (Feeling) ไม่เหมือนกัน คนไทยมีฝีมือด้านนี้มาก เพราะเรามีวัฒนธรรมด้านศิลปะยาวนาน ผมพยายามให้คนไทยรักษาสิ่งนี้ไว้ และพยายามดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น"
ขณะเดียวกัน คุณบุญกิตได้แจกแจงถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมเครื่องเงินไทยต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอุปสรรคทางการค้า และบุคลากรในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล และควรเร่งแก้ไขหากต้องการให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
ในส่วนของอุปสรรคทางการค้า แม้หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับเยอะ และดีมากแล้ว ทว่าประเทศอื่นทั่วโลกก็ปฏิรูปกฎระเบียบทางการค้าของตัวเองเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ไทยได้ทำไปแล้วอาจจะไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในยุคที่ไทยกำลังตั้งเป้าจะปรับบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ไปเป็นประเทศผู้ค้า (Trading Nation)
"หากต้องการเป็นประเทศผู้ค้าที่มีศักยภาพการแข่งขันสูง ก็ต้องมีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งนี้ แม้ช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ไทยเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ไปมาก แต่ก็ยังไม่สามารถรับมือกับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก เพราะคนอื่นเปลี่ยนเร็วกว่าไทย เปรียบเหมือนกับคนอื่นก้าว 10 ก้าว แต่เราก้าวแค่ก้าวเดียว บางประเทศเขาอาจเคยตามหลังเราประมาณ 10 ปี แต่ตอนนี้เขาวิ่งตามเรามาแบบหายใจรดต้นคอแล้ว"
นอกจากนี้ ด้านบุคลากรทั้งส่วนของแรงงานฝีมือ และผู้ประกอบการรุ่นต่อไป ผู้จะมาสืบทอดกิจการ ต่างมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่อัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ เป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับ 3 และเป็นสินค้าไม่กี่อย่างในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยที่มี Local Content สูง แม้จะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่มีการจ้างงานคนจำนวนมาก มีการเพิ่มมูลค่าภายในประเทศสูงมาก (Internal Value-Added) มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมนี้มาก เช่น ประกันภัย การส่งออก บริการขนส่ง
"คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความเป็นอยู่ดีหมด ระดับแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor)มีเงินเดือนอย่างน้อย 1.5 หมื่นบาท ส่วนคนที่เป็นช่างฝีมือ (Skilled Labor) ประเมินค่าไม่ได้ ช่างที่สามารถขึ้นพิมพ์ได้ ขึ้นแบบได้เอง เงินเดือนขั้นต่ำ 5-6 หมื่นบาท คนเก่งๆ ค่าตัวเป็นแสน แต่ปัญหาคือขาดแคลนคนกลุ่มนี้ คนที่ทำได้ก็ทยอยเกษียณอายุ คนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยอยากมาทำงานโรงงาน” คุณบุญกิต กล่าวถึงปัญหาแรงงานฝีมือ พร้อมพูดถึงบุคลากรระดับเจ้าของกิจการว่า "ตอนนี้เจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จในยุค’80-90 ก็มีอายุประมาณ 50 ปีปลายๆ ไปจนถึง 60 ปีกลางๆ อีกไม่กี่ปีก็วางมือ ส่วนรุ่นต่อมา อายุ 30 ปีปลายๆ ก็ไม่สนใจธุรกิจนี้ เพราะทำอย่างอื่นได้เงินเร็วว่า ไม่ว่าจะเป็นเล่นหุ้น หรือค้าขายออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรม"
แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายเช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าอื่นในแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ตลาดส่งออก “เครื่องเงิน” ก็ยังไปได้สวยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งทรงตัวและสามารถขยายตัวได้ในบางปี ซึ่งแสดงว่าพื้นฐานยังแข็งแกร่งอยู่ และสิ่งสำคัญที่จะติดปีกธุรกิจเครื่องเงินไทยให้รุดหน้าต่อไปก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจระหว่างระหว่างประเทศ
"ตลาดเครื่องเงินยังเป็นกลุ่ม (Segment) ที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ผู้ผลิตทองเพื่อส่งออกไม่มีโรงงานไหนในไทยที่ไม่ทำเครื่องประดับเงิน ซึ่งนี่ทำให้ยอดเครื่องเงินยังไปได้" คุณบุญกิต กล่าวเน้น
"ที่สำคัญเครื่องเงินมีราคาในระดับที่ลูกค้าซื้อหาไปใช้ได้ บางคนอาจพูดว่าเครื่องประดับไม่ใช่สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่จริงๆ แล้ว คนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้หญิง ไม่มีใครที่ไม่มีเครื่องประดับอยู่บนตัว ไม่ว่าคนชาตินั้นจะยากดีมีจนแค่ไหนก็จะต้องมีเครื่องประดับติดตัวสักชิ้นอยู่ดี"
ในเมื่อมีความต้องการซื้ออยู่ทั่วทุกมุมโลกแบบนี้ คุณบุญกิตก็แนะนำว่า ภาครัฐต้องช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจระหว่างประเทศได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศต่างๆ
"การผลิตของถูก สวย และดี ไม่ได้เป็นสูตรที่ทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จได้อีกต่อไปแล้ว ปัจจุบัน เราต้องผลิตของถูก สวย มีนวัตกรรม และที่สำคัญคือ ประเทศเราต้องมีกระบวนการทางการค้าที่ช่วยให้ทำธุรกิจได้ง่าย (Ease of Doing Business) ด้วย" คุณบุญกิต ชี้แนวทางสู่ความสำเร็จในยุคปัจจุบัน