รุกตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในสหรัฐฯ
แม้ว่าไทยจะถูกตัด GSP สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับบางรายการไปแล้ว (25 เมษายน 2563) และในปลายปีนี้ (30 ธันวาคม 2563) ไทยจะถูกตัดสิทธิ์ GSP สินค้าพลอยสีเนื้ออ่อนจะต้องเสียภาษีนำเข้าอัตรา 10.5% เแต่ก็ไม่ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากนัก เนื่องจากไทยได้รับความเชื่อมั่นและเป็นแหล่งศูนย์กลางของตลาดพลอยสีที่สำคัญในภูมิภาคเอเซีย
ผู้นำเข้ายังคงมีความต้องการที่จะนำเข้าจากไทยแม้ว่าไทยจะถูกยกเลิก GSP ในบางรายการ ปี 2562 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้า HS71039950 จากไทย มูลค่า 18.9 ล้านบาท (632,846 เหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.79 โดยไทยมีสัดส่วนทางการตลาดประมาณ 3.61% เป็นอันดับที่ 8 รองจากบราซิล อินเดีย อุรุกวัย จีน มาดากัสก้า อัฟริกาใต้ และออสเตเลีย และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทย มูลค่า 10.6 ล้านบาท (356,389 เหรียญสหรัฐ) ลดลงร้อยละ 19.82 โดยไทยมีสัดส่วนทางการตลาดประมาณ 3.88% เป็นอันดับที่ 6 รองจากบราซิล อินเดีย อุรุกวัย จีนและมาดากัสก้า
ในปี 2563 ยอดจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท (แบ่งเป็นตลาดเครื่องประดับแท้ คิดเป็นร้อยละ 83.76 และตลาดเครื่องประดับเทียม ร้อยละ 16.24) ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 20.96 อย่างไรก็ดี นักการตลาดคาดว่าในปี 2564 ตลาดสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับน่าจะมีการขยายตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
จากการรวบรวมข้อมูลสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ที่สำรวจร้านจำหน่ายเครื่องประดับในสหรัฐฯ ประมาณ 800 ร้าน สามารถสรุป 10 เทรนด์อัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ปี 2564 ได้ดังนี้
1. เพชรสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Lab Grown Diamond) และเครื่องประดับแฟชั่นที่ทำจากเงิน ทองคำ 10K และทองคำขาว เป็นที่นิยมลำดับต้นของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ
2. เครื่องประดับที่ผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบ ช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายในช่วงวิกฤติได้เป็นอย่างดี ผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศนิยมการสั่งสินค้าแบบออกแบบด้วยตนเอง ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นการสร้างเทรนด์ที่มาจากผู้บริโภคไม่ใช่จากอุตสาหกรรม
3. เครื่องประดับทองที่เป็นสีเหลือง (Yellow Gold) เป็นที่นิยมในทุกแบบ ทั้งแบบหนาและแบบที่เน้นรายละเอียด
4. ต่างหูยังคงเป็นสินค้ายอดนิยมสำหรับสุภาพสตรี โดยเฉพาะต่างหูติดหูขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ทั้งเพชรและมุก ต่างหูห้อยขนาดเล็กที่ตกแต่งด้วยเพชรหรือพลอยสีที่ไม่ติดกับหน้า เป็นการตอบโจทย์ของผู้บริโภคที่มองหาเครื่องประดับที่เคลื่อนไหวได้ดีเยี่ยม และสวมใส่แล้วดูดีในระหว่างการประชุมออน์ไลน์ และไม่ถูกกลืนไปเมื่อต้องสวมหน้ากาก
5. แนวโน้มการซื้อสินค้าสำหรับตนเองของสุภาพสตรีมีแน้วโน้มที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สินค้าที่เป็นที่นิยม ได้แก่ สร้อยข้อมือ และสร้อยคอที่มีขนาดเล็กนิยมสวมใส่หลายๆ เส้นทับซ้อนกัน และแหวนแบบบางที่ต้องใส่ซ้อนกันมากกว่า 1 วง ตกแต่งด้วยพลอยสีต่างๆ
6. สร้อยคอแบบโซ่ ที่เป็นห่วงหนาและตกแต่งด้วยเพชร เข้าคู่กับสร้อยข้อมือ กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มสุภาพบุรุษ และสตรี
7. แหวนหมั้นที่ทำจากเพชรธรรมชาติ ที่มีการเจียระไนแบบหยาบๆ และแหวนแต่งงานที่ตกแต่งด้วยพลอยสีเม็ดเล็กๆ เป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มเจ้าสาว นอกจากนี้เครื่องประดับทองที่เป็นสีเหลือง (Yellow Gold) เพชรและพลอยสีที่มีรูปทรงสะดุดตา ต่างเป็นที่สนใจของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว
8. เนื่องจากราคาทองคำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคมองหาโลหะทดแทนที่มีราคาต่ำกว่า เช่น โลหะทองคำที่มีค่ากระรัตต่ำ โลหะผสม และโลหะเงิน
9. เครื่องประดับที่ผลิตสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น เครื่องประดับที่ออกแบบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เครื่องประดับ พลังสตรี เครื่องประดับรับขวัญการให้กำเนิดบุตร เครื่องประดับสำหรับจบการศึกษา เครื่องประดับที่มีการสลักชื่อย่อสำหรับโอกาสพิเศษ เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯ น่าจะมีการขยายตัวได้ดีในอนาคต
10. ผู้บริโภคทั้งสุภาพบุรุษและสตรีให้ความสนใจพิจารณาการเลือกเครื่องประดับที่สอดคล้องกับวิถีชิวิตและเทคโนโลยี โดยประยุกต์ใช้เครื่องประดับผสมผสานกับเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมากขึ้น เช่น สายนาฬิกาอัจฉริยะ ฝาครอบนาฬิกา จี้ห้อยคอ USB แหวนสำหรับควบคุมคอมพิวเตอร์ได้ หูฟังไร้สาย และเคสที่ตกแต่งด้วยโลหะมีค่า อัญมณีและพลอยสีต่างๆ เป็นต้น
ภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวของบราซิล คือ 0% จีน 15% อินเดีย/ฮ่องกง/อุรุกวัย 10.5% ทำให้ไทยยังไม่เสียโอกาสในการแข่งขันในกลุ่มสินค้าดังกล่าวมากนัก ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวและวางแผนการตลาดเชิงรุกมากขึ้น หรือส่งเสริมการขายออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่าย อาทิขายผ่านแพลตฟอร์ม Amazon หรือ eBay ซึ่งมีสำนักงานในประเทศไทย
เทรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าตามฤดูและแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของไทย